ประวัติโรงเรียน
|
 |
โรงเรียนบ้านนาแซะ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ ณ หมู่ที่ ๔ ตำบลวังใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร
โรงเรียนบ้านนาแซะ เดิมทีเป็นป่าเขา ต่อมา นายเลี่ยง ดุษิยามี ขณะนั้นดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนบ้านเขาถล่ม ได้ขอจับจองที่ดินแปลงนี้ไว้เพื่อสร้างโรงเรียน เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๐๑ มีเนื้อที่ประมาณ ๑๘ ไร่เศษ
พ.ศ.๒๕๐๒ พระครูศรีอุทัยธรรม ( แดง วิมโล ) เจ้าอาวาสวัดศรีอุทัยธรรม ( เขาถล่ม ) ได้ชักชวนประชาชนในชุมชนนี้ สร้างสำนักสงฆ์ขึ้นและให้พระผดุง ราหุโล เป็นผู้รักษาสำนักสงฆ์ พระผดุง ได้เริ่มสอนหนังสือเด็กๆที่ยังไม่เคยเข้าเรียน เพราะพื้นที่แห่งนี้ห่างจากโรงเรียนประถมศึกษาที่ใกล้ที่สุดประมาณ ๑๐ กิโลเมตร และการคมนาคมไม่สะดวก
พ.ศ. ๒๕๐๔ พระครูศรีอุทัยธรรม และพระผดุง ได้ชักชวนประชาชนสร้างอาคารเรียนชั่วคราวขึ้น ๑ หลัง เสาไม้กลม หลังคามุมจาก ไม่มีฝากั้น พื้นดินเสร็จแล้ว ได้ขออนุญาตเปิดเรียนเป็นโรงเรียนประถมศึกษาขึ้นโดยตั้งชื่อว่า " โรงเรียนบ้านนาแซะ " ตามชื่อบ้านที่คนทั่วไปรู้จัก
วันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ ได้ทำพิธีเปิดอาคารเรียนอย่างเป็นทางการโดยนายชาญ กุยกานนท์ นายอำเภอเมืองชุมพร เป็นประธาน มีผู้ร่วมพิธีหลายคน เช่น นายสังเวียน ศรีนวลดี ศึกษาธิการอำเภอเมืองชุมพร นายเลี่ยง ดุษิยามี ครูใหญ่โรงเรียนบ้านเขาถล่ม นายเบ่ง อนิวัติ กำนันตำบลวังไผ่ นายอัต เรืองจันทร์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๔ ตำบลวังไผ่ ตลอดจนพระภิกษุ และประชาชนมาร่วมจำนวนมาก ทางราชการได้ส่งข้าราชการครู มาปฏิบัติหน้าที่ ๒ คน คือ
๑. นายเสือง พ้นภัย ดำรงตำแหน่งครูใหญ่
๒. นายเล็ก พิมลศักดิ์ ดำรงตำแหน่งครูปฏิบัติการสอน
มีนักเรียนทั้งหมด ๓๕ คน นักเรียนชาย ๑๘ คน นักเรียนหญิง ๑๗ คน แบ่งเป็น ๒ ชั้น คือ ป.๑ , ๒
ต่อมาในปีเดียวกันนี้ นายแถว มงคลได้สร้างอาคารเรียน แบบ ป ๑ ก ขนาด ๓ ห้องเรียน ๑ หลังมุงด้วยสังกะสี ฝาอิฐฉาบปูน พื้นปูนซีเมนต์ สิ้นค่าใช้จ่ายประมาณ ๓๐,๐๐๐ บาท ทางราชการเห็นว่า นายแถว มงคล เป็นผู้เสียสละทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ในการก่อสร้างโรงเรียนจึงให้นามโรงเรียนว่า " โรงเรียนบ้านนาแซะ ( แถวมงคลอุทิศ ) "
ปีการศึกษา ๒๕๑๔ โรงเรียนบ้านนาแซะ ได้รับอนุญาตให้ขยายชั้นเรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ ๗ อักษรย่อของโรงเรียน ป.ชพ. ๖๓
วันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ องค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร ได้จัดสรรงบประมาณให้สร้างอาคารเรียน แบบ ป ๑ ก ขนาด ๒ ห้องนอน งบประมาณ ๒๕,๐๐๐ บาทและเปิดใช้การได้ในวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖
วันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้งบภาษีบำรุงท้องที่เป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท สร้างถังเก็บน้ำฝน จำนวน ๖ ที่ ตั้งหลังอาคาร แบบ ป ๑ ก
วันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียน แบบ ๐๑๗ งบประมาณ ๖๕๐,๐๐๐ บาท สร้างเสร็จได้ในวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๒๓ ได้จัดงานฉลองอาคารเรียนและเปิดป้ายโรงเรียน มีผู้บริจาคเงิน ๒๘,๐๐๐ บาท
วันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๓ สร้างป้ายชื่อโรงเรียนด้วยไม้ตะเคียนทอง กว้าง ๑ เมตร ยาว ๙ เมตรเศษ เสาไม้หอมเขา ใช้เงินนอกงบประมาณ ๕,๐๐๐ บาท
วันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ สร้างถังเก็บน้ำฝน จำนวน ๓ ที่ หลังอาคาร ๐๑๗ เป็นถังกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๕ เมตร สูง ๒.๘๐ เมตร พื้นคอนกรีตเสริมเหล็กค่าก่อสร้างประมาณ ๑๑,๙๐๐ บาท ใช้เงินบริจาคในการจัดงานฉลองอาคารเรียน ๐๑๗
วันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้รับงบประมาณ ๒๓๙,๐๐๐ บาท ต่อเติมอาคารชั้นล่างอาคารเรียนแบบ ๐๑๗
วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้รับงบประมาณ ๒๑,๐๐๐ บาทสร้างส้วม ๓ ที่ พร้อมที่ปัสสาวะชาย
วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้รับงบประมาณ ๒๙๘,๐๐๐ บาท สร้างอาคารเอนกประสงค์ แบบ สปช. ๒๐๑/๒๖ กว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๒๐ เมตร โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังก่ออิฐ ฉาบปูนเรียบ โครงหลังคาเหล็ก มุงด้วยกระเบื้องลอนคู่
วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้รับงบประมาณ ๓๕,๐๐๐ บาท สร้างส้วมแบบ สปช. ๖๐๑/๒๖ จำนวน ๑ หลัง ๔ ที่นั่ง
วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้รับงบประมาณจากสภาตำบลวังใหม่ ๒๕๐,๐๐๐ บาท สร้าง
ถังเก็บน้ำฝนรูปทรงสี่เหลี่ยม ขนาด กว้าง ๔.๔๐ เมตร สูง ๑.๙๐ เมตร จำนวน ๕ ที่
วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๙ จัดงานฉลองอาคารเอนกประสงค์ และชุมนุมศิษย์เก่าได้รับเงิน ๑๕,๐๐๐ บาท ได้นำไปซื้อเครื่องโรเนียวแบบมือหมุน
วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้รับงบประมาณ ๑๕,๐๐๐ บาท สร้างเรือนเพาะชำแบบ พ. ๑ จำนวน ๑ หลัง
วันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ สร้างกำแพงรั้วโรงเรียน ยาว ๓๒.๓๐ เมตร ใช้เงินนอกงบประมาณ ๒๔,๔๐๐ บาท
วันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๒ นายเสือง พ้นภัย อาจารย์ใหญ่ เกษียณอายุราชการ สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอเมืองชุมพรได้แต่งตั้ง นายศิโรจน์ บ่วงราบ รักษาการในตำแหน่งอาจารย์ใหญ่
วันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้เกิดวาตภัยไต้ฝุ่นเกย์ ทำให้โรงเรียนได้รับความเสียหาย ดังนี้
๑. อาคารเรียน แบบ ป ๑ ก ขนาด ๓ ห้องเรียน ได้รับความเสียหายไม่สามารถซ่อมแซมได้ ขออนุญาตรื้อถอน
๒. อาคารเรียน แบบ ป ๑ ก ขนาด ๔ ห้องเรียน ได้รับความเสียหายบางส่วนได้ของบประมาณซ่อมแซม
๓. อาคารเรียน แบบ ๐๑๗ ขนาด ๘ ห้องเรียน เสียหายบางส่วนได้ของบประมาณซ่อมแซม
๔. บ้านพักครู แบบ สค.๑ ขนาด ๒ ห้องนอน เสียหายบางส่วนซ่อมแซมได้
๕. อาคารเอนกประสงค์แบบ สปช. ๒๐๑/๒๖ เสียหายบางส่วนซ่อมแซมได้
๖. ส้วมแบบ ๔๐๑ จำนวน ๓ ที่นั่ง และแบบ สปช. ๖๐๑/๒๖ ได้รับความเสียหายบางส่วน
วันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๓ สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอเมืองชุมพรได้ว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างมาทำการซ่อมแซมอาคารเรียน อาคารประกอบที่ได้รับความเสียหายจนแล้วเสร็จ
วันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดชุมพรได้ส่ง นายทวีศักดิ์ แสงสุวรรณ มาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่แทน นายเสือง พ้นภัย ที่เกษียณอายุราชการ
ปีการศึกษา ๒๕๔๐ โรงเรียนบ้านนาแซะได้เข้าโครงการโรงเรียนปฏิรูปการศึกษา ได้รับงบประมาณปรับปรุงห้องปฏิบัติการทางภาษา ห้องวิทยาศาสตร์ ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องคหกรรม พร้อมได้รับวัสดุครุภัณฑ์ประจำห้อง
ปีการศึกษา ๒๕๔๑ โรงเรียนได้รับอนุญาตให้เข้าโครงการโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา เปิดรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๑ จำนวน ๒๑ คน
ปีการศึกษา ๒๕๔๓ วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๔๔ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ จบหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้นเป็นรุ่นแรก จำนวน ๒๑ คน
ปีการศึกษา ๒๕๕๐ วันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๑ นายจรัญ ณรงค์เดช ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนแทนนายทวีศักดิ์ แสงสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนซึ่งย้ายไปโรงเรียนบ้านเขาชันโต๊ะ
ปีการศึกษา ๒๕๕๒ วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ นายวิศิษฐ์ ยอดสมัย ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนแทน นายจรัญ ณรงค์เดช ผู้อำนวยการโรงเรียนซึ่งย้ายไปโรงเรียนบ้านหนองส้ม
ปีการศึกษา 2560 นางรจนา เยี่ยมไทสง ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนแทนนายวิศิษฐ์ ยอดสมัย
ปัจจุบัน มีนักเรียนทั้งสิ้นจำนวน 139 คน บุคลากรทั้งหมด 20 คน มี ผู้บริหาร 1 คน ข้าราชการครู 14 คน พนักงานราชการ 1 คน ครูอัตราจ้าง 2 คน ครูพี่เลี้ยงเด็กพิการ 1 คน เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียน 1 คน จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยมี นายภาวัช ศรีวลี ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน
|